ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ E-Marketing ได้ที่ facebook ของเราที่ http://on.fb.me/tHSEwT
บทเรียนน้ำท่วมทำให้บิ๊กคอร์ป ปรับ "บิซิเนส โมเดล" เป็นกรณีเลวร้ายที่สุด เน้นกระจายความเสี่ยง ฐานผลิต-ดีซี-ซัพพลายเออร์ ทว่ารวมกลุ่มกันผลิต
นอกจากจะเข้าสู่โหมดฟื้นฟูประเทศ หลังน้ำลด ในส่วนของ "ภาคธุรกิจ" เอง มหาอุทกภัยรอบนี้ สร้างความปั่นป่วนใจ ทรัพย์สินจมน้ำเสียหายรวมเป็นเงินหลายแสนล้านบาท ดีมานด์หด ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 กันถ้วนหน้า โดยเฉพาะใน 3 - 4 ธุรกิจสำคัญของประเทศ อย่างธุรกิจประกอบรถยนต์ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บางธุรกิจกระทบชิ่งไปถึงโกลบอล ซัพพลาย (ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์)
ทำให้หลังจากนี้ "บิ๊กคอร์ปอเรท" เหล่านี้ต้องปรับ "โมเดลธุรกิจ" กันจ้าละหวั่น นั่นเพราะ "ภัยพิบัติทางธรรมชาติ" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวสำหรับภาคธุรกิจอีกต่อไป ต้องอยู่ร่วมกันมันให้ได้ !!! เพราะรังแต่จะถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้น
เหมือนจะเป็นฝันร้ายของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ต้องเผชิญกับมรสุมธุรกิจไม่จบสิ้น ตั้งแต่มรสุมทางการเมืองเมื่อครั้ง กลุ่มคน "เสื้อแดง" เผาศูนย์การค้าใจกลางเมืองหลวงอย่าง Central World เมื่อปี พ.ค.2553 ในจังหวะเดียวกับการปิดปรับปรุงห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ทำให้ต้องเลื่อนการปิดปรับปรุงออกไปอีกระยะ เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน นั่นเพราะทั้ง 2 ห้างฯถือเป็น "เส้นเลือดใหญ่" ของกลุ่มเซ็นทรัล
คล้ายเหตุการณ์เลวร้ายจะผ่านพ้น เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของกลุ่มเซ็นทรัลในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.54) ปรับตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่แล้วแผนปั๊มรายได้ให้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีก็สะดุดลง เพราะ "น้องน้ำถล่มกรุง" จนต้องทยอยปิดห้างสรรพสินค้าและโรงแรมในกลุ่มฯหนีน้ำกันพัลวัน แม้ผู้บริหารกลุ่มเซ็นทรัลจะระบุว่า กระทบไม่มาก
สุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารที่เป็นเหมือน "ตั่วเฮีย" ที่ดูแลภาพรวมธุรกิจของกลุ่มเซ็นทรัลทั้งหมด บอกว่า น้ำท่วมครั้งนี้เป็น "บทเรียน" ครั้งสำคัญให้ทุกภาคธุรกิจรวมทั้งกลุ่มเซ็นทรัลต้องเร่ง "ปรับตัว" เพื่อให้สถานการณ์ทางธุรกิจกลับมาเดินหน้าเป็นปกติให้เร็วที่สุด หลังน้ำลด
"ผมว่าน้ำท่วมใหญ่รอบนี้ มันเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดในการบริหารความเสี่ยงใหม่หมดเลยนะ คือต้องมาดูว่าในระยะยาวว่าจะมีแนวทางหรือมาตรการป้องกันความเสียหาย หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุดอย่างไร"
ที่สำคัญนับจากนี้ต้องทำเรื่องการบริหารความเสี่ยง (Risk Management และ Crisis Management) ที่เข้มข้นอยู่แล้ว ให้เข้มข้นมากขึ้นไปอีก !
สุทธิธรรมยังประเมินผลกระทบของอุทกภัยรอบนี้ว่า สำหรับกลุ่มเซ็นทรัลยัง “เอาอยู่” เพราะมีประสบการณ์จากเมื่อครั้ง "เสื้อแดง" เผา ! ทำให้การวางแผนรับมือกับวิกฤติทำได้อย่างทันท่วงที โดยมีการจัดตั้งศูนย์ Crisis Management Center รวมการรับมือวิกฤติไว้ที่หน่วยงานเดียว ที่ตั้งขึ้นหลักเหตุการณ์เสื้อแดง มาคอยประเมินสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่รอบนี้แบบวันต่อวัน
เช่น เราประเมินไว้แล้วว่าน้ำจะมาระดับไหน จะต้องทำอย่างไรต่อไป เราเริ่มขนย้ายสิ่งของโดยเฉพาะในบริเวณชั้นใต้ดินของห้างสรรพสินค้า มีการนำกระสอบทรายมาปิดทางน้ำ ทำให้ตัวห้างสรรพสินค้าไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่มีเหตุการณ์ประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดง
แต่ความเสียหายกลับเกิดขึ้นจากปัญหา "โลจิสติกส์" ที่ไม่สามารถกระจายสินค้า (Distribution) มายังห้างฯได้ เพราะศูนย์กระจายสินค้าจมน้ำ และเส้นทางต่างๆ ถูกตัดขาด ขณะที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ก็ทยอยปิดตัวลงตามเส้นทางที่น้ำไหลผ่าน อาทิ ห้างฯเซ็นทรัลรามอินทรา เซ็นทรัลลาดพร้าว เซ็นทรัลปิ่นเกล้า จากจำนวนห้างสรรพสินค้าทั้งหมด 16 แห่ง ล่าสุดได้เปิดให้บริการห้างฯเซ็นทรัล ลาดพร้าว เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา
“ผมไม่อยากพูดถึงเรื่องความเสียหายเท่าไหร่ เพราะยังไม่ได้มีประเมิน บอกได้แต่ว่าพอรับได้ และทางกลุ่มก็ไม่ Concern (เป็นกังวล) เรื่องทรัพย์สินมากนัก เราห่วงพนักงานมากกว่า ทุกคนยังปลอดภัยดีไหม ใครเสียหายอะไรบ้างก็แจ้งมา เสียหายเยอะก็ช่วยเยอะ เบื้องต้นเราก็ช่วยในเรื่องของที่อยู่อาศัยสำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเป็นผู้บริหารระดับสูงหน่อยก็ให้มาอยู่ที่โรงแรมในเครือ หรือพนักงานที่ตำแหน่งเล็กๆ หน่อยก็ให้มาเช่าอยู่ในที่สะดวกแก่การเดินทางไปทำงาน”
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า น้ำท่วมครั้งนี้ทำให้รายได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 จบไม่สวย แต่หากรวมรายได้ทั้งปีแล้วถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่เคยตั้งไว้ว่าในปี 2554 ที่ตั้งเป้าว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะมียอดขายรวม 133,500 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมา 12% เนื่องจากผลประกอบการในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้ครอบคลุมเป้าหมายทั้งปีไปแล้ว
ด้าน สมพล ชัยสิริโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่าย C บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เครือสหพัฒน์ ผู้ดูแลแบรนด์ “แอร์โรว์” เล่าว่า น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้เป็นเหมือนการส่งสัญญาณบางอย่างให้รู้ว่าควรจะเตรียมพร้อมและเตรียมตัวอย่างไรที่ "ธุรกิจจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ" และจะรับมืออย่างไรหากเกิดภัยพิบัติขึ้นมาอีกในอนาคต
“น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้บริษัทต้องรีวิวเรื่องการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น จะต้องเตรียมเครื่องไม้เครื่องมืออย่างไร เตรียมคนให้พร้อมอย่างไร ทำให้เรามีเปลี่ยนมุมมองในด้านการบริหาร คือ มองเป็น Worse Case Scenario (กรณีเลวร้ายสุดๆ) ไว้ก่อนแม้ว่าจะเป็นการมองในแง่ลบมากเกินไปแต่ก็ต้องทำ เราต้องคิดเยอะขึ้น เตรียมตัวเยอะขึ้นกว่าเดิม”
นอกจากนี้สิ่งที่ภาคเอกชนได้บทเรียน คือ การพึ่งพาตัวเองและพรรคพวก อย่างได้หวังพึ่งพารัฐ เพราะเป็นพิบัติภัยรอบนี้มองเห็นเลยว่าเป็นเรื่องใหม่ของรัฐเช่นกัน
"ภาครัฐเองก็ไม่เคยเตรียมการเรื่องนี้มาก่อน ต่างจากภาคเอกชนที่ปกติก็มีทำเรื่องของ Risk Management กันอยู่แล้ว แต่อุทกภัยรอบนี้ทำให้เรารู้ซึ้งเลยว่าภัยพิบัติมันรุนแรงแค่ไหน"
นี่แค่เบาะๆ นะ เพราะในอนาคตมีแต่คนพูดกันว่ามันจะรุนแรงมากขึ้นกว่านี้ !
สำหรับการเตรียมความพร้อมของเครือสหพัฒน์นั้น สมพล บอกว่า ต้องเข้าไปดูรายละเอียดของแผนการบริหารความเสี่ยงเป็นข้อๆ ไป โดยเร็วๆ นี้เครือสหพัฒน์จะหารือกันว่าควรจะปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง ตามนโยบายที่ บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ที่ให้แนวนโยบายสั้นๆ แต่ได้ใจความไว้ว่า...
"ต้องเสี่ยงให้น้อยที่สุด !!!"
"ผมคิดว่าสหพัฒน์ต้องเน้นในเรื่องของเทคโนโลยี Know How ต่างๆ ที่เราคิดว่าจะช่วยป้องกันธุรกิจของเราไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงทั้งหลาย ภาคเอกชนต้องแพ็คกันให้ดีรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันเอง มีข้อมูลอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน จะได้เตรียมตัวรับมือกันทัน"
นี่ก็เป็นการบริหารความเสี่ยงของพวกเราอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบางทีคิดว่าเงินอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องใช้มากขึ้นก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องใช้กันมากขึ้น คือ "สมอง" และกำลังคนที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน "สมพล" ระบุ
ด้านฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเครื่องดื่มตราช้าง บอกว่า โรงงานในกลุ่มไทยเบฟที่ได้รับความเสียหายชัดเจนมีเพียงแห่งเดียวคือ โรงงานผลิตชาเขียวพร้อมดื่ม "โออิชิ" ที่นิคมฯ นวนคร ส่วนโรงงานผลิตน้ำดื่มไม่ได้รับความเสียหาย แต่มีปัญหาในการขนส่งทางรถยนต์ทำให้ต้องเปลี่ยนไปขนส่งทางเรือแทน
เขาบอกว่า เหตุน้ำท่วมครั้งนี้ถือเป็นวิกฤติที่สร้างผลเสียหายโดยตรงต่อผลประกอบการของภาคเอกชน ทรัพย์สิน บุคลากร และโอกาสทางธุรกิจ โดยเขาระบุว่า จากนี้ไปภาคธุรกิจทุกรายจะต้องบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติมากขึ้น หากมีการบริหารที่ดีจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการดำเนินธุรกิจได้มาก โดยเฉพาะการทำประกันวินาศภัยให้ครอบคลุมภัยพิบัติทางธรรมชาติ แม้ในอนาคตน่าจะมีต้นทุนการทำประกันที่สูงขึ้นแน่นอน
นอกจากนี้ต่อไปทุกโรงงานอาจต้องการทำที่คันป้องกันน้ำแบบถาวร "ไทยเบฟเองก็ต้องมีการลงทุนในจุดนี้มากขึ้น" เขาบอก
ในแง่ที่ตั้งโรงงาน เขาเห็นว่า ต่อไปภาคธุรกิจคงต้องนึกถึงการกระจายความเสี่ยง "ไม่พึ่งพา" ฐานการผลิตหลักเพียงแห่งเดียวต้องกระจายที่ตั้งออกไปหลายจุด เพราะได้เรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้ว่าการ "รวมศูนย์" การผลิตอาจมีความเสี่ยงทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก ในส่วนของไทยเบฟเราได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวอยู่แล้ว โดยเตรียมแผนสองรองรับเมื่อไม่สามารถผลิตหรือส่งวัตถุดิบมายังฐานการผลิตใดได้
ส่วนตัวคิดว่า Key Learning ของเหตุการณ์ครั้งนี้ คือการรวมตัวกันของคนไทยทั้งในด้านความช่วยเหลือและอาจรวมถึงภาคธุรกิจด้วย
เป็นไปได้ว่าอนาคตในอุตสาหกรรมเดียวกันอาจจะมีการรวมกลุ่มกันมากขึ้น เช่น การว่าจ้างผลิต (OEM) ในกรณีที่ผู้ผลิตรายหนึ่งเกิดปัญหาขึ้น ถือเป็นแนวทางการบริหารความเสี่ยงรูปแบบใหม่
สำหรับไทยเบฟ ฐาปน เน้นว่า ยังไม่มีการเปลี่ยน Business Model ทั้งในด้านโรงงานผลิตและการกระจายสินค้า แต่จะให้ความสำคัญเรื่องการบริหารความเสี่ยงให้มี "แผนสอง" รองรับเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพื่อให้ธุรกิจยังดำเนินเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะน้ำดื่ม ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในภาวะวิกฤติ ส่วนโรงงานโออิชิ ที่นวนครเรามีแผนที่จะฟื้นฟูให้มีการผลิตใหม่ให้เร็วที่สุด รองรับการเติบโตของตลาดชาเขียวในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
“มั่นใจว่าทิศทางการดำเนินงานในปีหน้าเรายังเติบโตเช่นเดิม แผนธุรกิจเราไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนตัวคิดว่าหลังน้ำลดเศรษฐกิจไทยน่าจะเติบโตจากการจ้างงานที่กลับมา การใช้จ่ายรวมถึงการลงทุนเพื่อฟื้นฟูประเทศ เรายังหาโอกาสขยายธุรกิจต่อไป”
ด้าน กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG คาดการณ์ว่า ในอนาคตเรื่องของภัยพิบัติจะเกิดถี่ขึ้น และรุนแรงขึ้น หลักการของ Risk Management ต่อไปต้องมองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อนเสมอ การบริหารยามวิกฤติสิ่งที่คิดว่าสำคัญที่สุดคือ "สติ" แล้วไม่ต้องไปโทษใครทั้งสิ้นเลย
"เราต้องโฟกัสอยู่กับปัญหาข้างหน้าว่าจะแก้ไขอย่างไร อะไรคือเรื่องเฉพาะหน้า แล้วโจทย์ต่อไปคืออะไร ซีอีโอต้องประเมินเหตุการณ์แบบ Worst Case ไว้ก่อน เพราะถ้าเรามองเลวร้ายที่สุดไว้ล่วงหน้า การตั้งรับจะเกิด"
บัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น บอกว่า ในสัปดาห์นี้ซีพี ออลล์ จะหารือถึงแผนการฟื้นฟูธุรกิจหลังจากน้ำท่วม รวมทั้งจะหารือในเรื่องของแผนการป้องกันและการบริหารความเสี่ยงในอนาคตในกรณีที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นอีก
ส่วนระหว่างนี้จะเป็นการหารือกันว่าจะแก้ปัญหาในเรื่องการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้เหมือนเดิมอย่างไร เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมก็เริ่มคลี่คลายลงแล้วในบางพื้นที่
โดยความเสียหายจากน้ำท่วมของซีพี ออลล์ ที่ผ่านมา ได้แก่ ศูนย์กระจายสินค้า ที่อำเภอวังน้อย ถูกน้ำท่วม และเซเว่นอีเลฟเว่น ปิดไปแล้วมากกว่า 300- 400 แห่ง อีกทั้งประสบปัญหาด้านโลจิสติกส์ในการกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ ตามตรอก ซอก ซอย ที่ถูกน้ำท่วม
"เราจะเอาสินค้าเข้าไปส่งที่ร้านสะดวกซื้อได้อย่างไร และทำอย่างไรจะทำให้สินค้ามีเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ส่วนเรื่องของแผนในระยะยาวคงหารือในขั้นตอนต่อไปซึ่งก็คงเริ่มในสัปดาห์นี้"
เขาบอกเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ซีพี ออลล์ มีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเรื่อง Crisis Management โดยเฉพาะอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหลังจากนี้จะต้องเพิ่มรายละเอียดการดูแลให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เช่น บริษัทมีแผนที่จะตั้ง "หน่วยงานย่อย" ขึ้นมาอีก 1-2 ชุดรองจากหน่วยงานที่ดูแล Crisis Management อยู่แล้ว เพราะมองว่าในอนาคตเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญแบบเข้มข้น เพราะมีต่อการดำเนินธุรกิจของทางบริษัทโดยตรง
----------------------------
"แผนสอง" ทียูเอฟ ถ้า ท่วม !
ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทียูเอฟ อีกหนึ่งบริษัทที่ขณะนี้ยังมีลุ้นว่าน้ำจะเข้าท่วมนิคมฯสมุทรสาคร ฐานที่มั่นของโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่เยือกแข็งหรือไม่ บอกว่า บริษัทวางแผนบริหารความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมมาตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมา (ตั้งแต่น้ำท่วมอยู่ในจังหวัดอยุธยา) โดยยึดหลัก Worst Case Scenario เป็นตัวตั้ง
สำหรับโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาครถือเป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลที่สำคัญของประเทศ การเตรียมตัวป้องกันโรงงานถือว่าทำเสร็จสิ้นแล้ว คาดว่าน้องน้ำจะไม่สามารถเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับตัวโรงงาน แต่อาจจะมีผลต่อการมาทำงานของพนักงานที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ กว่า 20,000 คน
นอกจากนี้ในแง่ของการบริหารความเสี่ยงด้านการผลิต นอกจากทียูเอฟจะมีที่ตั้งโรงงานอยู่ในนิคมฯสมุทรสาครแล้ว ยังมีที่ตั้งโรงงานอยู่ในจังหวัดสงขลา และยังมีฐานการลงทุนในต่างประเทศ
"เมื่อประเทศไทยมีความเสี่ยงเรื่องอุทกภัยเพิ่มเข้ามา Business Model คงต้องคิดมากขึ้นในแง่การออกแบบแนวป้องกันน้ำท่วมเพิ่มเติมนอกจากป้องกันไฟไหม้ และจะต้องเน้นกระจายโรงงานผลิตไปในหลายแห่ง"
ธีรพงศ์ บอกด้วยว่า ในด้านโลจิสติกส์จากนี้ไปคงต้องวางแผนให้มากขึ้น มีการกระจายตัวของซัพพลายเออร์ (ผู้ผลิต) ให้มากขึ้น ในฐานะคนทำธุรกิจมองว่า คงต้องเน้นแผนบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ไม่ว่าจะในด้านการออกแบบโรงงาน ทำเล รวมถึงแผนสองที่จะนำมาใช้เมื่อแผนแรกยันไม่อยู่
“เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรารู้จักประเทศไทยมากขึ้น ผมคิดว่าทุกประเทศมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้าเราสามารถผ่านบททดสอบนี้ไปได้ต่อไปก็น่าจะบริหารจัดการปัญหาได้ หลังจากนี้เรายังมีแผนตั้งโรงงานในประเทศไทย ไม่หนีไปไหน”
ในกรณีเลวร้ายหากเกิดน้ำท่วมโรงงานทียูเอฟที่สมุทรสาคร จนต้องหยุดการผลิต ธีรพงศ์เชื่อว่าจะกระทบต่อรายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีเพียง 5-10%
ในกรณีเลวร้ายหากเกิดน้ำท่วมโรงงานทียูเอฟที่สมุทรสาคร จนต้องหยุดการผลิต ธีรพงศ์เชื่อว่าจะกระทบต่อรายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีเพียง 5-10%
"ถึงอย่างไรรายได้รวมปีนี้คงเติบโตระดับ 40% จากปีที่แล้วแน่นอน" เขามั่นใจ ซึ่งถือเป็นการทำนิวไฮของบริษัท ในแง่ตลาดถือได้ว่ามีการกระจายความเสี่ยงที่ดีโดยไม่หนักไปที่ภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง โดยตลาดสหรัฐฯ สัดส่วนการทำตลาดอยู่ที่ 36% ยุโรป 33% ไทย 10% ที่เหลือกระจายในทวีปอื่นๆ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ E-Marketing ได้ที่ facebook ของเราที่ http://on.fb.me/tHSEwT
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น