ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่
5กลยุทธ์การตลาดเด่น2012 เจาะตลาดผู้บริโภคยุคถดถอย
สถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวม ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว จากปัจจัยมหาอุทักภัยที่สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ ส่งผลให้การจ้างงานเกิดการชะลอตัว และบางส่วนต้องถูกเลิกจ้างไปโดยปริยาย เพราะโรงงานได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ครั้งนี้
คาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2555 ภาคครัวเรือนระมัดระวังการจับจ่ายมากขึ้น เนื่องจากต้องใช้เงินไปกับการซ่อมแซมและฟื้นฟูบ้านเรือนตัวเองภายหลังน้ำลด ทำให้นักการตลาด และผู้ประกอบการภาคธุรกิจจึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อเรียกกำลังซื้อให้กลับมาปรกติรับปีมังกรทองนี้
ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ได้สรุปและรวบรวมกลยุทธ์และเครื่องมือทางการตลาด เพื่อการเข้าถึงผู้บริโภค จากเจ้าของธุรกิจและนักวิชาการทางด้านการตลาดร่วมชี้ทิศทาง เทรนด์ใหม่ๆ ของกลยุทธ์การตลาดในปี 2555 นี้ โดยสุดยอด 5 กลยุทธ์ ได้แก่ 1.รีเทล สโตร์ มาร์เกตติ้ง 2.แฟลกเมนเตชั่น มาร์เกตติ้ง 3.ซีเอสอาร์ 4.Social Media 5.โซเชียล ซีอาร์เอ็ม สามารถสรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
เสื้อผ้า-แฟชั่น รับเทรนด์
“Retail Store Marketing”
กี่ยุคกี่สมัยแม้เศรษฐกิจจะตกเพียงใด แต่ผู้บริโภคก็ยังให้ความสำคัญการดูแลตัวเองให้ดูดีตลอดเวลา ทำให้สินค้ากลุ่มเสื้อผ้าและแฟชั่นคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เมื่อผ่านพ้นไตรมาส 2 ของปีหน้าเป็นต้นไป จะดึงกำลังซื้อกลับมาปรกติอีกครั้ง โดยเทรนด์ และแนวโน้มของกลยุทธ์ใหม่ในกลุ่มเสื้อผ้าและแฟชั่นในประเทศไทยรับปีมังกรทอง เรียกว่า “Retail Store Marketing” รับโมเดลการตลาดจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเน้นทำตลาดภายในชอป ตั้งแต่การจัดตกแต่ง การจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ โปรโมชั่น ฯลฯ
“ร้านเสื้อผ้า-แฟชั่นในเมืองไทยในปีหน้า จะมีหลายแบรนด์ดังจากต่างประเทศบุกเข้ามาทำตลาดในไทยเต็มรูปแบบ ในชื่อโมเดล Retail Store Marketing เป็นการบริหารชอปแบบครบวงจร การบริหารหน้าร้านที่ดี แสง สี ไฟ จะมีอิทธิพลและสามารถดึงดูดลูกค้าให้เกิดความประทับใจแต่แรกเห็น และเลือกที่จะเดินเข้ามาในร้าน โดยภายในต้องมีการบริหารเนื้อที่ที่ดีและครอบคลุมทุกตารางเมตรที่จะใช้การจัดตกแต่งรูปแบบร้านให้ทันสมัย หลากหลายสินค้าแบบมัลติแบรนด์ชนิดครบวงจร ลูกค้าเกิดความสะดวกสบาย ทำเลของร้านต้องให้คนไปมาสะดวก เข้าร้านได้ง่ายและเร็ว มีรถลากรถเข็นต้องเห็นชัด หยิบได้สะดวก และอะไรก็แล้วแต่ที่ลูกค้าต้องการ เขาต้องสามารถเดินเข้าถึงได้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มาซื้อ” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและแฟรนไชส์สากล มหาวิทยาลัยศรีปทุม พีระพงษ์ กิติเวชโภคาวัฒน์ วิเคราะห์
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมตอบรับไลฟ์สไตล์ลูกค้ารวมอยู่ในชอป ซึ่งลูกค้าเข้ามาใช้บริการภายในชอป หรือซื้อสินค้า สามารถเลือกซื้อสินค้าที่รวมแฟชั่นไว้อย่างครบวงจร พร้อมกิจกรรม แคมเปญ และโปรโมชั่นภายในชอป ยกตัวอย่าง ยูนิโคล่ จากญี่ปุ่น ที่น่าจับตามองกับการตลาดที่มาแรงในรูปแบบ Retail Store Marketing ที่ถือเป็นกรณีศึกษาความสำเร็จที่น่าสนใจ มีการบริหารจัดการพื้นที่ได้ดีทุกตารางเมตร กว้าง ไม่แออัด ปลอดโปร่ง มีโปรโมชั่น และสินค้าครบวงจร ทำให้ดึงดูดลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าได้เป็นอย่างดี อย่างล่าสุดที่ยูนิโคล่เปิดตัวครั้งแรก จะเห็นกิจกรรมเรียกกระแสทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ได้เป็นอย่างดี คือการใช้รูปแบบของการต่อแถว รับถุงผ้าแจกฟรีเข้ามาเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาทดลองสินค้าในร้าน
Flagmentation Marketing มาแรง
กลยุทธ์ Flagmentation หรือการตลาดที่เรียกว่า การตลาดที่ซอยย่อยอย่างถี่ยิบ หรือแบ่งเสี้ยว เป็นกลยุทธ์ที่พูดกันมา 3-4 ปีแล้ว ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลของค่ายยูนิลีเวอร์ เคยนำกลยุทธ์นี้มาใช้แล้วประสบความสำเร็จด้านยอดขายและแบรนด์อย่างมาก
มาปี 2555 Flagmentation Marketing เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นในการนำมาใช้อีกครั้ง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจหดตัว บรรดาผู้เล่นตลาดคอนซูเมอร์ไม่คิดหว่านงบ ทำการตลาดแบบแมส แต่จะเน้นทำตลาดทางตรง เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อบริหารต้นทุนให้เกิดความคุ้มค่าในยามกำลังซื้อและเศรษฐกิจหดตัวในปีหน้า
ด้านมุมมองของนักธุรกิจเอกชนเรื่องการตลาดเฉพาะเจาะจง หรือซอยย่อยถี่ยิบ ของกลุ่มรองเท้านันยาง ที่เพิ่งนำรองเท้าเพื่อนักบิด หรือนักแข่งมอเตอร์ไซค์ เข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังในปีหน้า “ผลิตภัณฑ์รองเท้าอาราชิ เป็นกลุ่มรองเท้านักบิด หรือรองเท้าขี่มอเตอร์ไซค์จากญี่ปุ่น ที่นับว่าเป็นรองเท้าที่เจาะกลุ่มแบบเฉพาะเจาะจง โดยรูปแบบการทำตลาดจะเน้นการทำกิจกรรม และใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ เจาะไปยังกลุ่มมอเตอร์ไซค์ที่ชื่นชอบความเร็ว และความท้าทาย หรือเป็นนักกีฬาแข่งรถมอเตอร์ไซค์ โดยเป็นการเลือกใช้ช่องทางและกลุ่มเป้าหมายแบบทางตรง ซึ่งรองเท้าอาราชิ เป็นการตอบโจทย์ความต้องการแบบเฉพาะของกลุ่มนักบิด นักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ โดยปีหน้าจะเน้นการจัดกิจกรรมแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น” ทายาทเจ้าของธุรกิจค้าปลีกซีคอนสแควร์ และกลุ่มรองเท้านันยาง ปิยะ ซอโสตถิกุล ตัวแทนจำหน่ายรองเท้าอาราชิ จากประเทศญี่ปุ่น
ส่วนนักวิชาการ กับกลยุทธ์ Flagmentation Marketing ในปีหน้า “เป็นการทำตลาดที่ไม่หว่านงบ เป็นการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบซอยย่อยลงไป ตั้งแต่รูปแบบกิจกรรม โปรดักส์ที่สนองตอบความต้องการเฉพาะในแต่ละคน ฯลฯ ซึ่งการทำตลาดจะเลือกใช้เม็ดเงินให้คุ้มค่า ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่เราแบ่งลึกและละเอียดลงไปอีก ซึ่งทิศทางและเทรนด์การตลาดในปีหน้าจะเป็นลักษณะนี้และมีให้เห็นมากขึ้น” รศ.ชื่นจิตต์ แจ้งเจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซีเอสอาร์ ดาวรุ่งปีหน้า
จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศไทย ที่สร้างผลกระทบอย่างมากให้เศรษฐกิจไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะผลกระทบภาคครัวเรือนที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชนนับล้านคน สินค้าอุปโภคบริโภคจึงออกมามีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม โดยสร้างสรรค์สิ่งดีๆ กิจกรรมต่างๆ และเงินบริจาคเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยได้กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง
เทรนด์กลยุทธ์ในปีหน้า กับซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility) จึงยังร้อนแรงอยู่ เพราะคนไทยยังช่วยคนไทยพลิกฟื้นเยียวยาไปพร้อมกันกับผู้ประสบอุทักภัย
ด้านความเห็นของเจ้าพ่อชาเขียว “ตัน ภาสกรนที” ที่ไปสร้างอาณาจักรชาเขียวแห่งใหม่ ในชื่อ “อิชิตัน” ซึ่งขณะนี้ได้รับการยกย่องว่า “ใจถึง” ในการบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมถึง 100 ล้านบาท แม้โรงงานผลิตที่โรจนะน้ำจะท่วมเกือบทั้งหมด สร้างความเสียหายมากกว่า 3,000 ล้านบาทก็ตาม
“การมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะยามที่คนไทยด้วยกันมีภัย จึงควรช่วยเหลือกัน คาดว่าระยะต่อจากนี้เป็นการฟื้นฟู และเยียวยาให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปรกติอีกครั้ง ซึ่งมองว่ากลยุทธ์ซีเอสอาร์มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบธุรกิจยังเลือกใช้ในปีหน้า” ตัน กล่าว
ซีอีโอ ตัน ภาสกรนที ในการเข้าถึงคนไทย สามารถสร้างพลังศรัทธาให้กับองค์กร แบรนด์ และสินค้า ที่เข้าถึงจิตใจคนไทยไปทั่วทั้งเมือง รวมถึงคงไม่มีใครไม่รู้จักแบรนด์ชาเขียวน้องใหม่ “อิชิตัน” ที่นำไปบริจาคในพื้นที่ประสบภัยจำนวนมาก จนกระทั่งแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ เรียกได้ว่าเหตุการณ์นั้นได้สร้างกระแสบอกต่ออย่างทันท่วงที ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบและทวิตเตอร์ แสดงให้เห็นว่า ตันได้ยึดพื้นที่จิตใจคนไทยเป็นที่เรียบร้อย พร้อมเสียงสะท้อนจากคนไทยเป็นกำลังใจให้กับตันอย่างล้นหลาม ว่า "คนไทยรักตันดื่มอิชิตันทุกวัน"
Social Media ยุคผสมผสาน
โซเชียลมีเดีย ในปีหน้ายังมาแรง ในโลกการสื่อสารแห่งอนาคตในยุคที่ผู้บริโภคพร้อมจะก้าวไปกับการใช้สื่อแบบผสมผสาน ร่วมไปกับการสัมผัสประสบการณ์ใหม่ในชีวิต ในปีหน้ายังคงเป็นที่นิยม และผู้ประกอบธุรกิจยังคงเลือกใช้เพื่อการสื่อสารแบรนด์ และสินค้าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพสูง
วฤตดา วรอาคม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านนวัตกรรม (ซีไอโอ) วิเคราะห์ว่า โซเชียล ให้คงเป็นหัวใจของแคมเปญโฆษณาไม่ว่าจะอยู่ในสื่อใดก็ตาม โดยเทรนด์นวัตกรรมการสื่อสารในโลกโฆษณาที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 จะเป็นการผสมผสานรูปแบบการสื่อสารโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าไว้ด้วยกัน ประกอบด้วย
- Bring Digital to Life ในปัจจุบันผู้บริโภคใช้ชีวิตอยู่ทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ โดยกิจกรรมในโลกออนไลน์นั้นสร้างความหลากหลายให้กับการใช้ชีวิต ผสมผสานความเป็น Phygital จะเป็นสะพานเชื่อมความเป็นโลกจริงและโลกออนไลน์ไว้ด้วยกัน
- Full-Fledged Convergence ต่อเนื่องจากยุคดิจิตอลที่ใครๆ ก็ชื่นชอบกับการสื่อสารที่โต้ตอบได้แบบเรียลไทม์ บทบาทของผู้บริโภคในฐานะสื่อ (Medium) ไม่ใช่เพียงกลุ่มเป้าหมาย (Destination) จะเป็นโจทย์สำคัญในการสื่อสารของโลกอนาคต สื่อหลากหลายในชีวิตประจำวันจะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ร่วมผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยการเข้าถึงข้อมูลด้านระบุพิกัดแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะก่อให้เกิดประสบการณ์การสื่อสารในรูปแบบตัวต่อตัว (Personalization) และประสบการณ์ความน่าตื่นตาตื่นใจในรูปแบบไลฟ์
- Year of 3D นวัตกรรมและเทคโนโลยีการสื่อสาร กำลังเป็นที่กล่าวถึงและผ่านการพลิกโฉมครั้งใหญ่ เพื่อดึงดูดผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่ต้องการความแปลกใหม่ตลอดเวลา โดยโจทย์หลักยังคงเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์สื่อที่จะเป็นที่กล่าวถึงขั้น "ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์" สื่อใหม่ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานนี้คงหนีไม่พ้นสื่อสร้างภาพเสมือนจริง 3 มิติ (3D Visualization) ที่ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ในการใช้ความเป็นดิจิตอลต่อยอดประสบการณ์ในชีวิตจริง
- The World, My Playground การกลับมาของเกมเป็นสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยแล้ว ทำให้โลกของเรานั้นเปรียบเสมือนสนามเด็กเล่นก็ว่าได้ เมื่อการระบุพิกัด และ Augmented Reality มาพบกับสมาร์ตโฟน เรื่องการสื่อสารก็เป็นเรื่องของความสนุก ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์การเล่นเกม อินเตอร์แอกทีฟ ในเวลาสถานที่จริง รูปแบบใหม่ๆ ในการหาที่ตั้งร้านค้า หรือแม้กระทั่งการเล่นโซเชียล เกมในโลกจริง
- Holo Spectacular การสร้างภาพจากเทคโนโลยีโฮโลแกรมที่สร้างความสงสัยในใจผู้บริโภคที่ได้พบเห็น ว่าอะไรจริงหรือไม่จริงกันแน่ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสร้างความดึงดูดใจต่อสื่อบีโลว์เดอะไลน์ (Below the Line) ที่ฉีกรูปแบบจากสื่อแบบดั้งเดิม โดยเทรนด์ในอนาคตจะได้เห็นการสร้างสรรค์ออกแบบโฮโลแกรมใน อีเวนต์ คอนเสิร์ต และแบรนด์แอกทิเวชั่นอย่างเต็มตัว ที่นอกจากจะสร้างความแปลกใหม่ในโลกจริงแล้วยังก่อให้เกิดกระแสในโลกออนไลน์อีกด้วย
- Loco-Motion Culture การกดปุ่มจะกลายเป็นเรื่องไม่เข้ากับยุคสมัยใหม่อีกต่อไป การสไวป์ (Swipe) แท็บ (Tab) และฟลิป (Flip) จะเข้ามาแทนที่การพลิกหน้ากระดาษแบบเดิมๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ ในการจับความเคลื่อนไหว รับคำสั่งจากเสียง ไวต่อแรงกด สแกนสายตา เหล่านี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแง่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งนี้ ยังจะสร้างมาตรฐานใหม่สำหรับการสร้างสรรค์ประสบการณ์ของแบรนด์ผ่านสื่อต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
- Info in A Capsule ในยุคที่โลกเราเต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาลหลากหลายรูปแบบ เทคโนโลยีที่ทำให้การรับข้อมูลเป็นไปโดยง่ายเหมือนอยู่แคปซูลนั้นถูกออกแบบขึ้นมามากมาย เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เคยชินไปแล้วกับการอินเตอร์แอกต์กับข้อมูลผ่านสัมผัส (Multi-Touch Interface) เทรนด์ที่เด่นชัด คือ การเล่าเรื่องราวของแบรนด์ที่จะใช้ความเป็นอินโฟกราฟิก หรือเล่นกับประสาทสัมผัสที่มีพลังที่สุดของผู้บริโภค นั่นคือ ผ่านรูปภาพการมองเห็นนั่นเอง
Social Connoisseur จากผลวิจัยผู้บริโภค เสน่ห์ของโซเชียลมีเดีย นั้นเกิดจากความเป็นเหมือนบทสนทนาที่โต้ตอบแชร์กันได้ การ "โซเชียลไลซ์" ความเป็นตัวตนได้อย่างเรียลไทม์ และความอัจฉริยะในแง่ข้อมูลของคอมมูนิตี้ ออนไลน์ ในแง่ของเทรนด์นวัตกรรมโซเชียลใหม่ๆ ที่จะก่อตัวขึ้นในอนาคตนั้นล้วนแต่จะได้รับแรงบันดาลใจมาจากผู้บริโภคและสิ่งที่ผู้บริโภคลุ่มหลงสนใจ พูดง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของผู้บริโภคในแง่มุมต่างๆ จะถูกผันมาเป็นแพลตฟอร์มสื่อใหม่ๆ ที่เข้าถึงแม้ในชีวิตประจำวัน
- Retail Futurescape สื่อในร้านค้ารีเทลและบริเวณจุดขายต่างๆ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในอนาคตการสร้างประสบการณ์ของแบรนด์จะถูกนำเสนอผ่านประสาทสัมผัสที่หลากหลาย เริ่มตั้งแต่เมื่อผู้บริโภคเห็นสินค้าในหน้าออนไลน์ เดินผ่านหน้าร้าน จนถึงแคชเชียร์จ่ายเงิน ด้วยคอนเซ็ปต์ของภาพจำลอง
โซเชียล ซีอาร์เอ็ม ผูกใจลูกค้า
การทำตลาดในรูปแบบซีอาร์เอ็มไม่ใช่เรื่องใหม่ในตลาด หากแต่กำลังกลับมาปัดฝุ่นและฮิตมากในปีหน้า โดยนำมาผสมผสานอย่างลงตัวบนโลกออนไลน์ให้เท่าทันกับยุคสมัยนี้ เรียกว่า “โซเชียล ซีอาร์เอ็ม” หรือการบริหารความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าผ่านโลกออนไลน์
"สื่อสังคมออนไลน์ได้ยกระดับการปฏิสัมพันธ์ และการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างผู้บริโภคสู่มิติใหม่ โดยจะเกิดขึ้นกับทุกคน ทุกที่ ทุกเรื่องราว และทุกเวลา" กรรมการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กล่าว
การแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้า และบริการของกลุ่มสินค้าต่างๆ จะใช้วิธีการสื่อสังคมออนไลน์ เป็นแพลตฟอร์มที่มีการพัฒนาต่อยอดมาจากวิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เรื่องราว และสิ่งต่างๆ มาเป็นเครือข่ายจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และยังได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ที่หลากหลายในการสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจ นอกจากนี้ ยังสามารถรวบรวมแนวคิดใหม่ๆ จากสมาชิกในชุมชนออนไลน์ ซึ่งเป็นทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าเป้าหมาย โซเชียล มีเดีย สามารถทำให้เราได้เข้าถึงกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการใช้ความรู้และเจาะหาและรวบรวม สร้างช่องทางใหม่ๆ ทางด้านการตลาดและการจัดจำหน่าย เช่น ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ฯลฯ
ขณะเดียวกัน สื่อสังคมออนไลน์ ยังก่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ตามความต้องการของลูกค้า สามารถขยายการปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าได้ทั้งในเชิงลึกและระดับกว้าง เพิ่มโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการที่ตรงตามลักษณะเฉพาะ และความเป็นตนเองของผู้บริโภคมากขึ้น ทั้งยังเข้าถึงผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ยังช่วยในการลดต้นทุนในการสรรหา โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีต้นทุนต่ำ หรือไม่มีค่าบริการในการประกาศรับสมัครงาน ช่วยเพิ่มความร่วมมือและเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญในองค์กรต่างๆ มากขึ้น
ด้านเจ้าของธุรกิจร้านเพชรหรู บิวตี้เจมส์ สุริยน ศรีอรทัยกุล มองว่าเทรนด์การทำโซเซียล ซีอาร์เอ็มจะมีมากขึ้น และเชิงลึกมากขึ้นในปีหน้า เพราะการรักษาฐานลูกค้าไว้อย่างเหนียวแน่นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะบิวตี้เจมส์เองก็เน้นให้ความสำคัญกับลูกค้าเดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการกลับมาซื้อซ้ำ ทั้งการจัดส่งคอลเลกชั่นใหม่ การจัดกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ให้สมาชิก หรือลูกค้าเดิมเข้าร่วม การจัดโปรโมชั่นตามฤดูกาลกับลูกค้าเดิม เป็นต้น ส่วนการทำโซเชียล ซีอาร์เอ็ม มองว่าเป็นการพัฒนาอีกขั้นในการใช้สื่อออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียเข้ามาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในการทำซีอาร์เอ็มแบบดั้งเดิมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดข้อจำกัดเรื่องระยะทาง เวลา และสะดวกรวดเร็ว มากยิ่งขึ้น
ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ
3+5กลยุทธ์ปั้นแบรนด์
ให้รอดพ้นยุควิกฤต
กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดแบบผสมผสาน IMC (Integrated Marketing Communication) ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ แนะมุมมองและแนวทางบริหารให้แบรนด์ประสบความสำเร็จและรอดพ้นวิกฤตกับ 3 กรอบคิด และ 5 กลยุทธ์เด่นสำหรับสร้างแบรนด์ในปีนี้
ในฐานะนักกลยุทธ์ด้านแบรนด์และ IMC ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์” ว่า กลยุทธ์ที่เป็น 3 กรอบใหญ่เข้ายุคการแข่งขันในปีนี้ คือ
1.The Alignment of Marketing and Sales เป็นการจับทางด้านการตลาด และการขายมาพิจารณาร่วมกันมากขึ้น สาเหตุเพราะปีที่ผ่านมา มีการบริหารจัดการแยกกันระหว่างการตลาด และการขาย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกมีปัญหาทั้งในแง่ของฝั่งอเมริกาและเศรษฐกิจในประเทศมีปัญหาวิกฤตจากมหาอุทกภัย รวมถึงการเมืองเข้ามาเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน ทำให้การใช้งบประมาณการตลาดต้องคำนึงในแง่ของการขายเข้ามาผสมผสานด้วย เรียกได้ว่า ต้องบูรณาการทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกันมากขึ้น
2.New Web technology หมายถึง การใช้กลยุทธ์แบบไอที บวกกับการพิจารณาเรื่องของพื้นที่ย่อยๆ มากขึ้น โดยใช้คลื่นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่การทำการตลาดแบบแยกตามgeo-location
3.Personalization and socialization เป็นการพิจารณาร่วมกันในความเป็นปัจเจกบุคคล ความเป็นส่วนตัว ผนวกกับการเป็นสังคมของกลุ่มเป้าหมาย โดยนำทั้ง 2 มาผนวกกันเพื่อการใช้ multi-channel tactics คือกลวิธีที่ใช้ช่องทางแบบหลากหลายช่องทางมากขึ้น
ทั้งนี้ กรอบทั้ง 3 จะเป็นแนวทางสำหรับการพิจารณากลยุทธ์การตลาดในปี 2555 โดยกลยุทธ์ที่กำลังมาแรงในปีนี้ ยังเป็นเรื่องกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ที่ยังมีความสำคัญมาก และนักการตลาดปีนี้จะต้องให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่ครบ 5 มิติ ซึ่งจะเป็น 5 กลยุทธ์การตลาดที่โดดเด่นในปีนี้
1.Brand Experience ในแง่ของประสบการณ์ที่ลูกค้าต้องมีกับแบรนด์ 2.Brand Community การสร้างชุมชนของแบรนด์ กรณีทรูชอป เป็นตัวอย่างที่มีอยู่ในปัจจุบัน หรือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรของแบรนด์ 3.Brand Communication 4.Brand Innovation นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์จะต้องมีสิ่งใหม่ๆ ออกมานำเสนอกับกลุ่มลูกค้าทั้งในแง่ของตัวสินค้าหรือการบริการ อาทิ การสร้างความสะดวกบริการใหม่ชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ
2.Corporate Social Responsibility : CSR เพราะกระแสตลาดในปี 2012 จะต้องดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจต่อโลก-สังคม-สิ่งแวดล้อม เพื่อให้โลกมีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอดมาจากปี 2554 โดยดำเนินกลยุทธ์ 2 กรณีคือ CSR After process กิจกรรมเพื่อสังคม
หลังจากที่ธุรกิจดำเนินการไปแล้วอยากจะคืนให้กับสังคมในภายหลัง หรือ CSR in process ธุรกิจเพื่อสังคม การทำ CSR ที่อยู่ในกระบวนการของการบริหารจัดการธุรกิจ ในจุดนี้จะไปตอบรับกระแสกลยุทธ์สมัยใหม่ Green Ocean ที่กำลังมาแรง ซึ่งในระยะแรก ส่วนใหญ่จะเป็นการทำกลยุทธ์ After process ทั้งนี้ปัจจุบันอาจจะให้ธุรกิจมองในแง่ของ in process มากขึ้น
3.Right-Time or Real-Time Multi-channel Marketing การตลาดผ่านสื่อสมัยใหม่ ทั้ง อินเทอร์เน็ต, เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ไอโฟน, ไอแพด,โทรศัพท์มือถือ กรณีเช่น หลังจากทางไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งแล้วมีคอนเทนต์แนะนำเกี่ยวกับร้านค้า ร้านอาหารและภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ในสถานที่นั้นเข้ามาในโทรศัพท์มือถือ สอดคล้องกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการในขณะนั้น ซึ่งหมายความว่าธุรกิจมีการบริหารจัดการข้อมูลเข้าถึงลูกค้าอย่างเป็นระบบ
4.Co-Marketing โดยเป็นการมองหากลุ่มพันธมิตรเพื่อที่จะทำการตลาดร่วมกับสินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายลูกค้า และไลฟ์สไตล์ที่เหมือนกัน แต่มีสินค้าที่นำเสนอต่างกัน โดยทั้ง 2 ส่วนจับมือร่วมกันทำแคมเปญการตลาด ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ เพราะว่ากระแสอุทกภัยและวิกฤตเศรษฐกิจ ทั้งที่ขับเคลื่อนเป็นภาพใหญ่ระดับโลก และกระแสระดับประเทศทำให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างระมัดระวังมากขึ้น
5.Geo-targeting and localized Marketing กลยุทธ์การตลาดที่คำนึงถึงลูกค้าทั้ง 2 ส่วน คือ Customer and Distribution Segmentation มีการแบ่งกลุ่มเป้าหมายของการขายและกระจายสินค้าตามพื้นที่ โดยปรับการขายสินค้าเป็นแมสมาเป็นการเจาะลึกลงพื้นที่ เพราะตลาดส่วนนั้น Distributor จะมีความชำนาญและเข้าใจในความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง อาทิ คนภาคอีสานและภาคเหนือมีความต้องการที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งจะทำให้ได้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการตลาดที่ดีขึ้น
ดังนั้น นักกลยุทธ์การตลาดพยายามจะใช้ประโยชน์จากความชำนาญและความแตกต่างในพื้นที่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารการตลาดในปี 2555 นี้
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น