ท่ามกลางวิกฤติอาจจะมี “โอกาส” ซุกซ่อนอยู่ และท่ามกลางธุรกิจมากมายก็อาจจะมี “ช่องว่าง” ให้เกิด “ธุรกิจใหม่” ขึ้นได้ ขอเพียงผู้ที่คิดจะทำธุรกิจมี ความพร้อมเพียงพอในสิ่งที่จะทำ “โอกาสแจ้งเกิดธุรกิจใหม่” ก็ย่อมจะมี ซึ่งวันนี้เราจะมาดูกันเรื่อง “ช่องว่างของธุรกิจที่ทำให้สามารถแข่งขันได้”
ทั้งนี้ กับเรื่อง “ช่องว่างของธุรกิจที่ทำให้สามารถแข่งขันได้” นี้ ดร.บรรพต วิรุณราช รองคณบดีวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อาจารย์ผู้สอน นิสิตเอ็มบีเอ วิชาการคิดเชิงกลยุทธ์และข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน แนะนำโดยยกกรณีตัวอย่างว่า...มีนักธุรกิจรายหนึ่ง เมื่อ 20 ปีที่แล้วเดินทางมาจากไต้หวัน โดยมีเงินทุนติดตัวมาคิดเป็นเงิน ไทยประมาณ 2,000,000 บาท ซึ่งนักธุรกิจรายนี้มองว่าเงินทุนเท่านี้หากใช้ลงทุนทำธุรกิจที่ไต้หวัน ถือว่ายากมาก แทบไม่มีช่องว่างที่จะให้ธุรกิจที่มีเงินทุนเริ่มต้นเท่านี้สอดแทรก
แต่ “ในประเทศไทยมีช่องว่าง” ให้แข่งขันได้ นักธุรกิจรายนี้ตัดสินใจลงทุนในไทย กับธุรกิจด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งตอนนั้นถือว่ายังมีช่องว่างมาก จนมาตอนนี้ สามารถจะมีทรัพย์สินนับพันล้านบาท
อีกรายเป็นนักธุรกิจหญิง เดิมทำธุรกิจเลี้ยงและขายไก่ไข่ ทำตั้งแต่ปี 2537 เรื่อยมาจนปี 2547 จากไก่ 3,000 ตัว เป็น 5,000 ตัว เป็น 10,000 ตัว และเป็น 100,000 ตัว พร้อมหนี้สินอีกก้อนหนึ่ง สุดท้ายก็จำต้องเลิกธุรกิจนี้ เพราะเห็นแล้วว่าจะอย่างไรก็แข่งขันยาก เพราะมีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายบริษัทลงมาประกอบธุรกิจเลี้ยงไก่ไข่ขายไข่และผลิตลูกไก่เอง จากนั้นก็ “มองหาช่องว่างธุรกิจ”
ช่องว่างนี้ต้องเป็นช่องว่างที่ “บริษัทใหญ่ ๆ มองข้าม” หรือ “ธุรกิจใหญ่ไม่สนใจ” เพราะหากรายใหญ่ลงมาทำก็ไม่สามารถแข่งขันได้ ต้นทุนจะสูง ซึ่งตอนนั้นธุรกิจไม้ตัดใบเป็นคำตอบ ดังนั้นฟาร์มไก่ไข่จึงถูกเปลี่ยนเป็นสวนไม้ตัดใบกว่า 20 ชนิด จนวันนี้กลายเป็นรายใหญ่ในพื้นที่ธุรกิจ ทำให้อยู่ได้อย่างสบาย ๆ
ดร.บรรพต บอกว่า... กรณีตัวอย่างทั้ง 2 กรณีนี้ การมองหา “ช่องว่างของธุรกิจที่ทำให้สามารถแข่งขันได้” สามารถสรุปเป็น “โมเดลช่องว่างทางธุรกิจ” ได้
โมเดลช่องว่างทางธุรกิจนี้ อธิบายได้ดังนี้คือ...
1.ผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินลงทุนสูง จะมีอำนาจต่อรองมาก สามารถทำธุรกิจแข่งขันได้ ดังนั้น ผู้มีเงินทุนน้อย จึงไม่ควรเข้าไปทำธุรกิจเดียวกันกับเขา
2.ผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินทุนน้อย ควรหลบไปประกอบธุรกิจเรื่องใหม่ ๆ และในพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ยังมีการประกอบธุรกิจนั้น ๆ น้อยอยู่
3.ผู้ประกอบธุรกิจใหญ่ที่สามารถยืนหยัดได้ในปัจจุบัน มักจะต้องทำธุรกิจครบวงจร เช่นตั้งแต่ผลิต ประกอบ และขาย จึงจะทำให้สามารถแข่งขันได้ดี
4.ผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ครบวงจรและไม่ใหญ่ ควรจะมองหาธุรกิจ ที่บริษัทใหญ่ไม่สนใจ แต่ประชาชนยังบริโภค-อุปโภคอยู่
“เราควรหาเวลาทบทวนธุรกิจ พิจารณาว่าปัจจุบันอยู่ในช่องที่เท่าไหร่ 1 หรือ 2 หรือ 3 หรือ 4 แล้วตัดสินใจว่าควรจะอยู่ช่องไหนหรือไปช่องไหนจึงจะดี จึงจะสามารถแข่งขันได้” ... ดร.บรรพต วิรุณราช ระบุ
ใครจะทำธุรกิจ-ใครทำธุรกิจอยู่...ก็ลองพิจารณากัน !!
ที่มา : เดลินิวส์
dailynews.co.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น