ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่
สูตรสำเร็จ...นักสร้างแบรนด์ ดลชัย บุณยะรัตเวช
ได้ชื่อว่าเป็นนักสร้างแบรนด์มือหนึ่งของเมืองไทย พ่วงด้วยประสบการณ์ขั้นเทพกว่า 2 ทศวรรษในแวดวงโฆษณา ไม่แปลกที่ใครๆ จะถามหาสูตรสำเร็จจากเขาคนนี้
แต่ต่อให้สามารถถอดรหัสหาสูตรลับสู่ความสำเร็จนั้นได้ ก็ใช่ว่าใครๆ จะทำได้ เพราะชื่อเสียงของมืออาชีพอย่าง ดลชัย บุณยะรัตเวช มาจาก "สมอง" บวก "สไตล์" เฉพาะตัว
ในวันสบายๆ ที่ ณดล วิลล่า สถานที่ซึ่งเกือบจะเรียกได้ว่าเป็นบ้านหลังที่สองของเขาที่จังหวัดสระบุรี ดลชัย ย้อนเส้นทางอาชีพนักสร้างแบรนด์ให้ฟังว่า
หลังฝึกฝีมือในวงการโฆษณามาได้ 15 ปี กับตำแหน่งสุดท้าย Executive Creative Director บริษัท เดนท์สุ ยังก์ แอนด์ รูบิแคม แบรนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (DY&R) ก็เริ่มรู้สึกเบื่อ
"ตอนนั้นคิดว่าน่าจะมีศาสตร์อะไรบางอย่างที่ทำให้เรารู้จักการสร้างโฆษณาได้ลึกซึ้งขึ้น เราก็ไปประชุมกับพวก strategic planner เห็นว่าเขามีความคิดที่น่าสนใจมาก เหมือนเป็นต้นน้ำให้กับครีเอทีฟอีกที เรียกว่าเป็นผู้วางกลยุทธ์แบรนด์ ก็เลยขอหัวหน้าย้ายไปอยู่แผนกนี้ แล้วก็มีโอกาสไปประชุมกับแพลนเนอร์ทั่วโลก ซึมซับวิธีที่เขาคิดวิธีที่เขาพรีเซ้นท์มาตลอด หลังจากนั้นเราก็เทิร์นมาเป็น Strategic Planning Director ทำหน้าที่นี้มา 10 กว่าปีถึงได้ออกมาเปิดบริษัทของตัวเอง"
ในหมวกของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบรนด์ซเคพ จำกัด เขาสร้างผลงานไว้มากมาย ตั้งแต่ธุรกิจเล็กๆ ระดับ SME ไปจนถึงองค์กรระดับชาติ งานปั้นดินให้เป็นดาว แม้จะยาก แต่สิ่งที่คืนกลับมาคือความภาคภูมิใจเมื่อสามารถพาลูกค้าไปถึงฝั่งฝัน
"หัวใจของการสร้างแบรนด์ คือคุณค่าในใจคนที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางธุรกิจ เช่นเมื่อก่อนขายของได้ 5 บาท แต่หลังจากสร้างแบรนด์เสร็จแล้วคุณขายของชิ้นนั้นได้ 7 บาท โดยคนซื้อไม่รังเกียจรังงอน อนาคตเป็น 10 บาทเขาก็ซื้ออีก 20 บาทก็ซื้ออีก แถมชวนเพื่อนมาซื้อ เขาเรียกว่า Royalty อีกอย่างคือ ความเป็นสาวก อย่างคุณเป็นสาวกโนเกีย กี่รุ่นๆ ก็โนเกีย หรือเป็นสาวกซัมซุง แบล็คเบอร์รี อันนี้คือตัววัดผล"
สำหรับหน้าที่ของนักสร้างแบรนด์ เขาบอกว่าคือการสร้างเข็มทิศให้กับแบรนด์นั้นๆ เริ่มจากการวางกลยุทธ์ จากนั้นก็วาง Identity system ตั้งแต่โลโก้ ธีมสี ไปจนถึงบุคลิกของพนักงาน เมื่อเป็นรูปเป็นร่างแล้วก็ต้องคอยตรวจเช็คให้คำปรึกษา รวมถึงการอบรมให้ความรู้กับพนักงานด้วย ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จ ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ใช้ "หัวใจ" และ "หัวสมอง" เท่าๆ กัน
"อาชีพนี้ต้องใช้หัวสมองทั้งสองซีก ซีกซ้ายและขวา ซีกซ้ายคือด้าน Logic เราต้องมี Consumer Inside ที่ถูกต้อง ขณะที่หัวสมองซีกขวา คือความคิดสร้างสรรค์แบบที่เคยใช้ตอนเป็นครีเอทีฟ แต่คราวนี้ต้องบาลานซ์ให้เป็น คือนักสร้างแบรนด์ที่ดีคือต้องคิดและทำออกมาให้มีสุนทรียภาพด้วย"
"เราต้องทำความเข้าใจกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค และต้องมี Imagination ต้องสามารถพาเขาไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นได้ สร้างสิ่งใหม่ได้ สุดท้ายต้องทำให้องค์กรเหมือนมีชีวิตจริง ไม่ใช่เป็นแค่สถาบันไกลๆ ตัว"
ไม่ต้องร่ายยาวว่ามีแบรนด์ไหนบ้างที่ผ่านมือผู้ชายคนนี้ แต่รับรองว่าคุณอาจจะเคยใช้ เคยผ่านตา หรือกำลังตกลงปลงใจเป็นสาวก (ของแบรนด์นั้นๆ) ซึ่งสำหรับคนอื่นการได้ทั้งเงินทั้งกล่อง จะไม่นับเป็นความสำเร็จได้อย่างไร
"ส่วนตัวไม่คิดว่าเราประสบความสำเร็จหรอก คิดว่าเราต้องใฝ่รู้ทุกวัน เราต้องไม่ทะนงตัว เราเจียมตัวคิดว่าความรู้มันเรียนกันไม่หมด การเป็นคอลัมนิสต์ การเขียนหนังสือทำให้เราต้องอ่านหนังสือทุกวัน เรียนรู้ตลอด"
แต่หากจะหาจุดวัดความสำเร็จ เขาบอกว่าคือศรัทธาจากลูกค้า
"การที่เขาเห็นเราเป็นที่พึ่งได้ เราต้องมีจรรยาบรรณอย่างสูง ลูกค้ามีเงิน 5 บาท กับมีเงิน 100 บาท เราต้องทำเต็มที่เท่ากัน ต้องหวังดีกับเขาหมด เราต้องการให้เขาไปถึงดวงดาวให้ได้ เพราะฉะนั้นผมภูมิใจทุกครั้งที่เห็นลูกค้าเติบโต"
แม้ปัจจุบันนักสร้างแบรนด์มืออาชีพจะยังมีไม่มากนัก แต่ถ้าวัดจากชื่อเสียงและรายได้ หลายคนคงเริ่มสนใจก้าวเข้ามาในแวดวงนี้ รุ่นพี่อย่างดลชัย แจงคุณสมบัติคนที่ "ใช่" ว่า
"หนึ่งต้องมองภาพกว้างเป็น มองภาพสูงเป็น มองภาพเล็กเป็น อันที่สองต้องมีจินตนาการ สามต้องเป็นนักสืบ สืบหมดว่าผู้บริโภคยุคนี้เป็นอย่างไร สี่ต้องมีช้อยส์ ต้องมีกลยุทธ์หลากหลายเพื่อเอาไปเลือก ไม่ใช่มีอันเดียวแล้วอีโก้หลงทะนงตัว ใครอย่ามาแตะต้องฉันนะ คือเราเป็นคนไม่อีโก้เลยนะ ถ้าทำไปแล้วลูกค้าไม่ชอบ ก็จะถามว่าทำไมไม่ชอบ แล้วก็คิดใหม่ ไม่เห็นเป็นไรเลย เป็นแค่ความคิด คิดใหม่ได้ แต่เราต้องมีลอจิกว่าทำไมเราคิดอย่างนี้นะ
ห้าต้องมีวิมังสา คือการทบทวนว่าการคิดอย่างนี้มันตอบโจทย์ธุรกิจเขาหรือเปล่า ไม่ใช่คิดแล้วไปเลย มันในอารมณ์ กู่ไม่กลับ ใครมาทัก โกรธ ติสต์แตก ไม่ได้ มันต้องตอบโจทย์เขา อันนี้คือคุณสมบัติที่ดี ซึ่งผมว่าไม่ใช่แค่นักสร้างแบรนด์หรอก ทุกองค์กรแหละ"
และแม้จะเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นแบรนด์ แต่ถ้าจะให้มืออาชีพคนนี้สร้างฝันให้เป็นจริง เขาว่าต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธาซึ่งกันและกันก่อน เพราะการสร้างแบรนด์ไม่ใช่สร้างภาพ แต่หมายถึงการสร้างคุณค่าพิเศษให้เกิดขึ้นในใจคน
"สำหรับผม Branding คือการเล่านิทาน คุณต้องรู้นิทานของตัวเองคืออะไร" ดลชัย สรุป
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่
http://whitemkt-consultant.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น