ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่
รสนาเปรียบ รบ. แปรรูป ปตท. เหมือนไส้ศึกสูบเลือดชาติ
"รสนา" จวกรัฐบาลแปรรูป ปตท.ทำตัวเหมือนไส้ศึกเข้ามากินเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ และส่งต่อเอกชน ยันไม่ค้านที่จะทำ แต่ควรคืนทรัพย์สินส่วนรวมให้ประเทศตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก่อน ลั่น หากไม่ปฏิบัติตาม จะยื่นเรื่องฟ้องอีกรอบ
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ถึงกรณีรัฐบาลมีแนวคิดแปรรูป ปตท.และการบินไทยว่า ความคิดแปรรูป ปตท.ครั้งนี้ เป็นวิธีอันชาญฉลาด คือ ครั้งที่แล้ว ที่ ปตท.แปรรูป ไม่ใช่การแปรรูปที่แท้จริง เพราะปกติประเทศไหนก็ตามที่แปรรูปจากรัฐวิสาหกิจไปเป็นเอกชน จะต้องแยกสิ่งที่เป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติออกก่อน เช่น ท่อส่งก๊าซ แต่การแปรรูป ปตท.ครั้งนั้น โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น กรรมการนโยบายไม่เห็นด้วย เพราะกรรมการฯบอกว่า ควรจะแยกส่วนที่เป็นโครงสร้างการผูกขาดโดยธรรมชาติออก ถ้าจำได้ ย้อนกลับไปดูสมัยนั้น มีมติ ครม.ออกมาว่า จะแยกภายใน 1 ปี และจะตั้งเรกกูเรเตอร์ขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องต้นทุนราคา แต่หลังจากแปรรูปแล้ว นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริเดช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสมัยนั้น ดึงมติ ครม.ออก เนื่องจากมติขณะนั้นต้องการให้เป็นระบบผู้ค้าหลายราย แต่ว่าที่ยกเลิกมติ ครม.เพราะต้องการให้เป็นการผูกขาดเจ้าเดียว ซึ่งกระบวนการผูกขาดเจ้าเดียวและแปรรูปแบบนี้ ถ้าพูดแบบโจเซฟ สติกลิสส์ นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลไพรซ์ ปี 2544 คือการทุจริตคอรัปชัน หลังจากนั้นภาคประชาชนรวมทั้งตนเองก็ได้ยื่นฟ้อง ปตท.และศาลก็มีคำสั่งออกมาว่า แม้จะไม่เพิกถอน ปตท.ออกมาจากตลาด แต่ ปตท.ต้องคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ซึ่งก็คือท่อก๊าซทั้งระบบ แต่ด้วยว่ากระทรวงท้ังหลายในประเทศไทยไม่ยอมดำเนินการตามส่ิงที่ศาลตัดสินก็คืนท่อก๊าซมาเป็นบางส่วน พอมาถึงจุดนี้ ถ้ามีการโยกหุ้นของรัฐวิสาหกิจออก 2% เพื่อเป็นเอกชน อันนี้ต้องบอกว่าเป็นการคอรัปชันอีกครั้ง
"การที่ดึงหุ้นออกไปอีก 2% เพื่อให้เป็นเอกชน คือการผ่องถ่ายทรัพย์สินออกไปให้กับเอกชนในการกินรวบ คือก่อนหน้าแปรรูปมาสเต็ปแรก เพื่อใช้อำนาจรัฐในการสร้างการผูกขาดซึ่งอยู่ในมือของเอกชนซึ่งเมื่อได้ผูกขาดเต็มรูปแบบแล้ว คือ รวมบริษัทต่างๆเข้าด้วยกันทำให้เกิดการผูกขาดทั้งระบบรวมทั้งระบบท่อส่งก๊าซ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าบริษัทปตท.ในนามรัฐวิสาหกิจได้ผูกขาดพลังงานทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และเมื่อผูกขาดได้ทั้งระบบแล้ว ขณะนี้กำลังจะดึงก้อนที่ผูกขาดนี้ไปเป็นของเอกชน"
น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า ขณะที่ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ได้รับสิ่งที่เป็นผลประโยชน์จากการเป็นรัฐวิสาหกิจ เช่น ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า และเมื่อ ปตท.จะออกไปเป็นเอกชน คือการย้ายการผูกขาดทั้งระบบไปให้เอกชน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันว่าถ้าจะแปรรูปให้เป็นเอกชนทั้งระบบ สิ่งที่เป็นการผูกขาดต้องคืนให้กับรัฐ เช่น ท่อส่งก๊าซ ปตท.ต้องส่งคืน ไม่มีสิทธิ์ได้ของเหล่านี้ไป ซึ่งคนที่คิดได้ขนาดนี้ ต้องเป็นคนที่ฉ้อฉล และมีความเป็นเลิศในวิธีการทุจริตคอรัปชันอำนาจ วิธีการแบบนี้คือกินหลายส่วน โดยเอากองทุนวายุภักดิ์ ซึ่งอยู่ในพวกตนเองมาซื้อ ซึ่งไม่มีประเทศไหนทำ เพราะพลังงานเป็นยุทธปัจจัย ไม่มีประเทศไหนยอมให้ยุทธปัจจัยเป็นของเอกชน รัฐบาลทำตัวเสมือนเป็นไส้ศึกเข้ามา เพื่อล้วงทรัพย์สินส่วนรวมเอาไปให้เอกชน แม้จะบอกว่าเมื่อปตท.เป็นเอกชน 100% จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า แต่กฎหมายไทยก็อ่อนแอมาก เพราะตั้งแต่มีกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าออกมา ยังไม่เคยมีกฎกระทรวงใดนำมาปฏิบัติในการคุมเอกชนเลย ทั้งนี้ตนเชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องบีบให้รัฐยอมทำตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คือ 1. ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ต้องคืนให้กับหลวง 2. ทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์เป็นของรัฐ เพราะฉะนั้นท่อในทะเลทั้งหมด และที่ดินเอกชนทั้งหลายที่พาดผ่านท่อ แต่มันเป็นทรัพยสิทธิของรัฐ ที่ให้คุณผ่านท่อไป จุดไหนเป็นของรัฐทั้งหมด แต่เค้าไม่คืน และ 3. ปตท.ไม่ใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้รัฐจะถือหุ้นใหญ่
"ถ้าหากแปรรูป ดิฉันไม่ได้คัดค้านการแปรรูป เอาทรัพย์สินส่วนรวมกลับคืนมาก่อนแล้วมาจัดสรรกันใหม่ ส่วนไหนแข่งขันได้เอาไปแข่งขัน เอาไปแปรรูปเลย แต่ส่วนไหนที่เป็นทรัพย์สินที่ต้องใช้ร่วมกันของคนในชาติและมีลักษณะผูกขาด ไม่มีใครมาแข่งกับคุณ ต้องเอาออกมา สิ่งเหล่านี้ต้องจัดสรรระบบกันใหม่ แต่นี่คือวิธีที่ซับซ้อน และถือเป็นการกินรวบประเทศไทย เพราะพลังงานถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ไม่มีประเทศไหนที่ยอมให้เกิดแบบนี้ขึ้นมา และประเทศไทย ดิฉันคิดว่าประชาชน 63 ล้านคน ไม่ควรจะยอม และคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องบีบให้รัฐยอมทำตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เพราะฉะนั้น ปตท.ไม่มีอำนาจมหาชน แต่ ปตท.มีเครือข่ายโยงใยระดับสูงเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด คนเหล่านี้ ซึ่งเป็นคนกำกับดูแลก็ไม่กำกับดูแล สิ่งเหล่านี้เป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่ซับซ้อนมาก และจะชัดเจนมากขึ้น ถ้าเค้าต้องการจะผ่องถ่าย ซึ่งการบินไทยเอาเข้ามา เพื่อจะเอามาแอบแฝงว่าไม่ใช่ ปตท.อย่างเดียว ไม่ใช่ต้องการทำแค่ ปตท.ทำไมไม่เอา ขสมก.ไป "
ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ตนจะยื่นฟ้องศาลอีกคดี ในฐานะประชาชน ไม่ใช่ในฐานะ ส.ว.หรือ ประธานคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เพื่อให้แบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ครบถ้วน เพราะที่ผ่านมายังได้คืนมาไม่ครบ ซึ่งจะดำเนินการเมื่อใด คงต้องรอให้ว่างๆก่อน แต่เรื่องนี้ทำแน่นอน
ที่มา ไทยรัฐ
ติดตามข้อมูลข่าวสาร ได้ที่
http://whitemkt-consultant.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น